ตั้งแต่ย่างเข้า 50 มา บางครั้งก็อดคิดเรื่องแก่เรื่องตายไม่ได้ เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันที่ตายไปแล้วก็หลายคน แต่คนไทยเรามักไม่ค่อยติดกับเรื่องตายเท่าไร เผาเสร็จแล้วก็เสร็จเลยเป็นส่วนใหญ่ ไม่เหมือนกับคนจีนหรือญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญทั้งด้านพิธีกรรมงานศพและที่อยู่หลังตาย หลายท่านอาจไม่ทราบมาก่อนว่าไม่ใช่คนญี่ปุ่นทุกคนหลอกน่ะที่ตายแล้วจะมีสุสานกัน เหมือนเช่นพ่อแม่สามีซึ่งตายไปเกือบสิบปีแล้ว ตอนนี้ไปเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวกันที่วัด Isshin-ji ในเมืองโอซากา
“ดูที่ทางไว้หรือยังค่ะ”
 |
พระประธานในโบสถ์วัด Isshin-ji |
อยู่บ้านทีไรได้เรื่องทุกที ต้องคอยนั่งรับโทรศัพท์จากคุณป้าเสียงหวานชวนซื้อที่ซื้อทางอยุ่เป็นประจำ แรกๆก็ซื่อบื่อไม่รู้หลอกน่ะว่าเป็นที่อะไร “Senri Memorial ค่ะ เพิ่งเปิดใหม่ ล้อมรอบด้วยภูเขาเขียวขจี มีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดนะค่ะ” ไม่ใช่คอนโดค่ะ เธอโทรมาชวนให้ไปซื้อที่เก็บไว้ทำสุสาน รีบปฏิเสธแทบไม่ทัน แถมบางคนตื๊อต่อด้วย “แน่ใจหรือค่ะว่ายังไม่จำเป็น” มาถึงตอนนี้ เล่นเอาตั้งตัวไม่ติดเหมือนกันเพราะใครจะไปแน่ใจได้ว่าจะตายเมื่อไร
ปกติผู้สูงอายุญี่ปุ่นจะเตรียมที่ทางไว้อยู่หลังตายแล้วกันเป็นส่วนใหญ่ คนไหนที่เป็นลูกชายคนโตของตระกูลก็รับทอดสุสานของปู่ย่าตายาย หลังเผาเสร็จก็เอากระดูกส่วนหนึ่งใส่โถไปเก็บในสุสานเล็กๆเรียงรายใกล้กัน แต่สำหรับลูกชายคนรองหรือคนต่อๆมาก็ต้องไปขยับขยายหาที่ทางเอาเอง ทำให้ธุรกิจด้านที่ดินผืนน้อยนิดนี้ค่อนข้างรุ่งเรืองโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆซึ่งคนร้อยพ่อพันธุ์แม่เข้ามาทำมาหากิน ลองคิดดูซิว่าผ่อนบ้านกว่า 35 ปีเสร็จยังต่อมาผ่อนที่สำหรับทำสุสานราคาเหยียบ 3-4 ล้านเยนอีก ชีวิตที่นี่ทรหดแค่ไหน
วัดสำหรับลูกชายคนรอง
 |
พระสงฆ์กำลังสวด |
สัก 10 ปีก่อนหน้านี้ได้ที่พ่อของสามีลื่นล้มตกบันไดที่โรงพยาบาลและเสียชีวิตไป หลังจากดูแลภรรยาซึ่งป่วยเป็นอัมพาตอย่างหนักมากว่า 22 ปี ทำให้พวกเราต้องวิ่งหาที่เก็บกระดูกของพ่อซึ่งเป็นลูกชายคนรองและต้องออกไปหาสุสานเอง หลังจากสวดหนึ่งคืน เผาในวันรุ่งขึ้น และทำบุญครบรอบ 49 วันแล้ว ก็ถึงเวลานำกระดูกไปเก็บ ซึ่งท้ายสุดเราก็ตัดสินใจเลือกวัด Isshin-ji ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอ Tennoji กลางกรุงโอซากาเป็นที่บรรจุกระดูกของพ่อ
วัด Isshin-ji ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีค.ศ.1185 มีชื่อเสียงด้านประวัติศาสตร์ว่าเคยเป็นที่ตั้งกองกำลังของ Tokugawa Ieyasu (ปกครองประเทศจากค.ศ. 1603-1605) สมัยที่ยกทัพมาเพื่อยึดครองอำนาจจากตระกูลโทะโยะโทะมิ แต่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักวัดนี้ในนามของ “วัดพระพุทธรูปทำจากอัฐิ” (Kotsubotoke no Tera)
 |
พระพุทธรูปทำจากอัฐิ |
ใช่แล้ว พระพุทธรูปของวัดนี้ทำจากอัฐิผู้คนที่เสียชีวิตไปแล้ว ว่ากันว่าแต่ไหนแต่ไรชาวพุทธที่นี่มีธรรมเนียมนำเอากระดูก อังคาร หรือเส้นผมของญาติมิตรที่เสียชีวิตไปๆเก็บและทำบุญที่วัด ที่มีเงินก็สร้างสุสานของตนเองในบริเวณวัด ที่ไม่มีเงินก็นำมาทำบุญแล้วก็ฝากกระดูกไว้เช่นนั้น ซึ่งทางวัดก็รับทำพิธีให้มาตั้งแต่ปี 1856 เป็นต้นมา จนกระดูกแทบจะไม่มีที่เก็บต่อไป ทางวัดก็เลยปรึกษากันว่าให้รวบรวมเอากระดูกเหล่านั้นมาเผาและหล่อเป็นพระพุทธรูปทุกๆสิบปีซะ ผู้คนที่เสียชีวิตไปจะได้ไปสู่สุขคติ ลูกหลานก็มากราบไหว้ได้ทุกเมื่อ และนั่นคือที่มาของพระพุทธรูปทำจากอัฐิองค์แรกในปี 1887 ซึ่งใช้อัฐิของคนกว่า 2 ล้านคนเป็นวัสดุ องค์ล่าสุดนี้หล่อเมื่อปี 2007 ใช้อัฐิรวมทั้งสิ้น 163,254 คน และสองในจำนวนแสนกว่ารายของกระดูกดังกล่าวคือกระดูกของพ่อและแม่สามีซึ่งเสียชีวิตใน 3 ปีต่อมา ไล่เลี่ยกันทันรวมเป็นพระองค์เดียวกันพอดี
“ถึงเวลาทำบุญแล้วน่ะ”
 |
พระสงฆ์เขียนชื่อผู้เสียชีวิตบรกระดาษไม้ไผ่ |
เมื่อครบกำหนดวันเสียชีวิตของแต่ละคน ทางวัดจะส่งไปรษณียบัตรมาที่บ้าน เตือนให้ลูกหลานไปทำบุญรำลึกถึงการจากไปของบรรพบุรุษที่ไปฝากกระดูกทำเป็นพระพุทธรูปไว้ สำหรับที่บ้านนั้น ไปรษณียบัตรจะมาทุกๆเดือนมกราคม โดยแยกมาของพ่อใบหนึ่งของแม่อีกใบหนึ่งซึ่งบังเอิญเสียชีวิตในเดือนมกราคมเหมือนกัน ทำให้เรารวบรัดไปทำบุญพร้อมกันทีเดียวได้เลย แถมที่วัดนี้ยังมีการบริหารจัดการที่เยี่ยมยอดด้วย คือตอนเรานำอัฐิของพ่อและแม่ไปฝากที่วัดนั้น ได้ขอให้ทางวัดทำบุญให้แบบถาวร (สัญญา 33 ปี) โดยมีค่าใช้จ่ายตามอัตราที่วัดกำหนดคือ 1 แสนเยน ซึ่งเป็นเรตที่ไม่เป็นภาระกับลูกหลาน ทำให้ลูกหลานสามารถเดินทางไปทำบุญได้ทุกๆปี บรรพบุรุษก็พลอยชื่นมื่นด้วย
 |
ดอกไม้หน้าโบสถ์เล็กด้านข้าง |
วันนี้เป็นวันที่สามีมาชวนไปทำบุญที่วัดอีกครั้งหนึ่ง ก่อนอื่นก็พากันไปเข้าแถวที่แผนกลงทะเบียนซึ่งพระสงฆ์และเจ้าหน้าที่วัดจะมาคอยรับไปรษณียบัตรที่แต่ละคนนำไปแสดง หลังจากนั้นพระสงฆ์ก็จะเขียนชื่อบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปบนแผ่นกระดาษคล้ายกระดาษไม้ไผ่ ส่งให้ลูกหลานนำไปที่โบสถ์ใหญ่ เพื่อไปคอยให้หลวงพี่หลวงน้าเรียกชื่อตามคิวเข้าไปทีละครอบครัว วันนี้เป็นวันเสาวร์ ผู้คนก็ค่อนข้างมากหน่อย คอยอยู่สักครึ่งชั่วโมงก็ถึงคิวเรา “มัทสุโอะ ยาสุฮิโระ-ซังและครอบครัวเชิญด้านนี้” ว่าแล้วก็ขยับไปฟังพระสวด 2 อึดใจ นำป้ายชื่อพ่อแม่ไปปักหน้าพระพุทธรูป พระสงฆ์ขานชื่ออำนวยพรให้อยู่ดีมีสุขบนสวงสวรรค์ทำนองนั้น เสร็จรับขนมที่ระลึกจากมือพระเป็นอันเสร็จสิ้น รวมสิริเวลาราว 3 นาที “ทำไมถึงสั้นอย่างนี้ ?” ทีแรกก็ตกใจตาเหลือกเหมือนกันน่ะ แต่นี่ปีที่สิบแล้วเลยชิน แหม วันๆหนึ่งมีผู้คนมากว่า 4-500 ราย จะให้สวดข้ามวันข้ามคืนแบบเมืองไทย ให้เกณฑ์พระมาทั่วประเทศก็คงเอาไม่อยู่ (ขอยืมใช้บ้าง มีค่าลิขสิทธิ์ไหมเนี่ย) เอาพอหอมปากหอมคอก็พอ
เสร็จจากสวด 3 นาที รอครึ่งชั่วโมง แต่ละคนก็ลงจากโบสถ์ใหญ่ ขยับไปที่โบสถ์เล็กด้านข้างซึ่งด้านในเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปที่ทำจากอัฐิเรียงรายกันอยู่ตอนนี้รวม 8 องค์ (องค์ก่อนหน้านั้นเสียหายไประหว่างสงคราม) ต่างคนก็มองหาพระพุทธรูปองค์ที่ใช้กระดูกบรรพบุรุษตนสร้าง จุดธูปเทียนปักดอกไม้กราบไหว้ สามีเอากาแฟติดมือไปสองกระป๋องไปวางไว้ที่หน้าองค์พระพุทธปี 2007 ด้วย บอกว่าพ่อและแม่ชอบกินกาแฟ หลังจากนั้นก็เป็นอันเสร็จสิ้นแยกย้ายกันกลับ รอไปรษณียบัตรปีหน้าใหม่
ไปไหนดีล่ะ ฉัน ?
 |
หอธรรมด้านนอกวัด มีพระพุทธรูปเรียงรายเป็นร้อยๆองค์ |
หลังจากเริ่มนึกเรื่องแก่เรื่องตาย เวลาก็ผ่านมาได้สัก 2-3 ปีแล้ว ที่ดินทำสุสานนั้นคงไม่ซื้อแน่ เพราะรู้สึกสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ จะให้ไปเป็นพระพุทธรูปแบบพ่อและแม่สามีดี หรือไปอยู่ในเจดีย์วัดที่เมืองไทยดี หรือแค่นำอังคารไปลอยออกทะเลหายไปกับคลื่นลมเลยก็ไม่เลวน่ะ หรือจะเอาแบบพ่อตัวเองที่ไปเซ็นมอบร่างไว้กับสภากาชาดแล้วดี เอ้ เรื่องนี้ต้องปรึกษาสามีแต่เนิ่นๆไหมน่ะ เดี๋ยว ขอไปดูกรมธรรมณ์ประกันชีวิตก่อนว่าชื่อผู้รับเป็นใคร แล้วค่อยคิดเรื่องที่อยู่หลังตายแล้วกัน
ที่อยู่หลังตาย ?
เมื่อปลายปี2010ได้ไปร่วมงานศพของอาจารย์ผู้มีพระคุณที่Odawara ว่ากันตั้งแต่เริ่มจนเผาเลยทีเดียว ระหว่างพิธีทุกคนสำรวมมากๆเงียบกริบไม่มีเสียงคุยใดๆเลยทุกขั้นตอนให้เกียรติแก่ผู้ล่วงลับไปมาก ใช้เวลาราว50 นาที ในการเผา หลังเผาเสร็จเจ้าหน้าที่จะเอากระดูกและเถ้าที่เหลือออกมาค่อยๆบรรจุลงในโถกระเบื้องและบรรจุลงตามลำดับของร่างกายเจ้าหน้าที่จะบอกว่ากระดูกชิ้นนี้คือส่วนใดของร่างกายจนชิ้นสุดท้ายคือกระโหลก เขาให้ใช้มือซ้ายคีบกระดูกโดยช่วยกันคีบเป็นคู่ๆบรรจุลงในโถ ... เป็นพิธีที่ทำให้เราเห็นความเป็นอนิจจังจริงๆ... สุดท้ายแล้วเหลือเพียงเถ้านี้.. แต่ความดีเท่านั้นยังคงอยู่ อาจารย์ท่านนี้ Dr.Minoru Okada จะพร่ำสอนอยู่เสมอว่า ท่านได้รับสิ่งต่างๆจากโลกนี้มามากต่อมาก ท่านจะต้องถ่ายทอดความรู้ที่ท่านมีออกไปให้มากที่สุดเป็นการตอบแทนคืนสู่โลกนี้...
ReplyDeleteว่าแล้วเรากับลูกสาวก็บริจาคร่างกาย ดวงตา ให้สภากาชาดไทยไปแล้วตั้งแต่ปี 2548 หวังว่าหลังจากตายไปแล้ว คงจะได้ไปอยู่ที่โรงเรียนแพทย์ที่ไหนสักแห่งหรือร่างกายบางส่วนคงจะไปอยู่กับใครบางคนที่จะเป็นประโยชน์กับเขาต่อไป