Sunday, January 15, 2012

การ์ตูนญี่ปุ่นบุกอินเดีย


หลายปีมานี้ ญี่ปุ่นดูเหมือนจะถูกเกาหลีตีตลาดเอเซียไปมากทีเดียว ไม่ว่าจะด้านแฟชั่น เพลง หรือว่าละคร เด็กไทยจำนวนไม่น้อยหลงไหลเกาหลี และทำท่าเหมือนกับจะลืมญี่ปุ่นไปง่ายๆยังงั้น หลังพักรบดูลาดลาวมาสักพัก ญี่ปุ่นก็เริ่มบุกอีกครั้ง คราวนี้เริ่มจากเมืองภารตะ ตลาดยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในเอเซีย แถมไม่ใช่แค่ขายหนังสือหรือฉายการ์ตูนหลอกเด็กเท่านั้น แต่จะเข้าไปปักหลักใช้อินเดียเป็นฐานผลิตการ์ตูนเลยด้วย

สุราจ ดาวเด่นวงการคริกเกตอินเดีย

หากถามคนญี่ปุ่นในวัย 50 เศษว่าสมัยเด็กๆเคยดูการ์ตูนเรื่องอะไร ? เชื่อได้ว่าคนจำนวนไม่น้อยจะตอบว่า “Kyojin no Hoshi“ หรือที่ฝรั่งนำไปแปลเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษว่า “Star of the Giants” (ดาวเด่นของทีมเบสบอลล์ Giants) มันเป็นเรื่องราวของ Hoshi Hyuma นักกีฬาเบสบอลล์ดาวเด่นของทีม Yomiuri Giants ซึ่งพ่ออดีตนักกีฬาสังกัดทีมดังกล่าวได้ปลูกฝังให้รักกีฬา น้ำใจนักกีฬาและความอดทนของเขาถูกปลูกฝังมาอย่างไรดูจะเป็นหัวใจสำคัญสร้างความประทับใจต่อผู้อ่านการ์ตูนประเภท “Spo-ne”(กีฬากับการต่อสู้) เอามากๆทีเดียว ด้วยเหตุนี้กระมังที่สำนักพิมพ์ Kodansha เจ้าของลิขสิทธ์ตกลงที่จะรีเมคภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องที่ว่านี้ นำไปฉายทั่วอินเดียจากฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ (กันยา-พฤศจิกา) โดยเปลี่ยนจากเบสบอลล์มาเป็นคริกเกต (Cricket) กีฬายอดนิยมของชาวภารตะ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “Rising Star”


“สุราจ” คือตัวเอกของเรื่อง มีชีวิตครอบครัวคล้าย Hoshi พ่อของสุราจเป็นอดีตนักกีฬาทีมชาติ แต่จากอุบัติเหตุรถยนต์ทำให้แขนใช้การไม่ได้ ต้องลาออกไปทำงานก่อสร้างหาเงินเลี้ยงและอบรมสั่งสอนสุราจ จนเขากลายเป็นนักกีฬาดาวเด่นของทีมในเมืองมุมไบ มีผู้คนหลงไหลมากกว่านักกีฬาคนอื่นที่มาจากครอบครัวมีอันจะกิน  อ่านมาเท่านี้ก็พอจะเดาได้ว่าผู้ชมชาวภารตะต้องเตรียมผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าโผกศรีษะไว้เช็ดน้ำตากันตามๆแน่


มุมไบเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าฝั่งตะวันตกของอินเดีย มีมหาเศรษฐีอันดับ 9 ของโลกที่มีสมบัติกว่า 27,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยมีชีวิตอยู่ด้วยการเก็บขยะขายวันละ 30 รูปี (ประมาณ 15 บาท)


ทศวรรษ 1950-60 เป็นช่วงที่คนญี่ปุ่นพากันสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยความมานะจนกระทั่งประเทศมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีละกว่าร้อยละ10 ติดๆกันอยู่หลายต่อหลายปี นักวิเคราะห์เชื่อว่าผู้ชมการ์ตูนหลายรายชอบการ์ตูนดังกล่าวเพราะการนำตัวเองไปเทียบซ้อนกับตัวเอกของเรื่อง ทำให้มีกำลังใจมุ่งมั่นทำงานต่อไป สำนักพิมพ์โคดังชะเล็งว่าอินเดียปัจจุบันคล้ายกับญี่ปุ่นในเวลานั้นมาก จึงคาดว่า “Rising Star” ก็จะเป็นที่ฮอตฮิตหลังจากที่ก่อนหน้านี้ โดราเอมอน และ นินจา ฮัตโตริได้รับความนิยมมาแล้ว

นินจาฮัตโตริ, เครยอง ชินจัง เมด อิน อินเดีย

หนูน้อยเครยอง ชินจัง
“นินจาฮัตโตริ-กุง”  เป็นการ์ตูนอีกเรื่องหนึ่งที่ฮอตฮิตมาช้านาน เมื่อไม่กี่วันมานี้ Asahi T.V เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ได้ตกลงให้บริษัท Reliance Media Works บริษัทผู้ผลิตการ์ตูนรายใหญ่ของอินเดียเป็นผู้ผลิตนินจา ฮัตโตริตอนใหม่ (ตอนที่ 26) ซึ่งจะคลอดออกมาในรอบ 25 ปี “เมด อิน อินเดีย” นั้นประหยัดค่าใช้จ่ายได้กว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับรุ่น “เมด อิน แจแปน” ดูเหมือนอุตสาหกรรมการ์ตูนก็จะเหมือนๆรถยนต์ หรืออุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ซะแล้ว ส่งไปผลิตนอกประเทศ นำเข้าย้อนกลับมาที่ญี่ปุ่น ข่าวมาว่านอกจากจะฉายในอินเดียจากเดือนพฤษภาคมนี้แล้ว เรื่องใหม่นี้ก็จะถูกส่งไปฉายในเกาหลี ไทย และประเทศเอเซียรวม 10 ประเทศด้วย หากไม่มีอุปสรรคร้ายแรงใดๆเกิดขึ้น Asahi T.V ยังได้ประกาศว่าจะใช้อินเดียเป็นฐานผลิตภาพยนตร์การ์ตูนที่ตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “เครยอง ชินจัง” หรือ “ปาร์แมน” เป็นต้น เรียกได้ว่าสำหรับการ์ตูนนิสต์ชาวภารตะนั้น อยู่ในภาวะส้มหล่นแน่


ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ผลิตก็ตาม เอกลักษณ์ของการ์ตูนก็คงจะรักษาสไตล์ญี่ปุ่นต่อไป แต่ในใจก็อดอยากเห็นนินจา ฮัตโตริหรือหนูน้อยชินจังปีนทัชมาฮาล หรือไปหาแกงกะหรี่อินเดียกินบ้างนิดๆเหมือนกัน นอกจากตัวภาพยนตร์แล้ว เชื่อว่าบริษัทจะผลิตสินค้าขายและใช้เป็นคาแรคเตอร์โฆษณาทั่วเอเซียด้วย ขนาดในปี 2010 ที่จำนวนภาพยนตร์ลดลงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับในปี 2006 อันเป็นปีทองแล้วก็ตาม ก็ยังมีภาพยนตร์ออกมาฉายถึง 195 เรื่อง รายได้จากการโฆษณาและขายสินค้าเท่ากับ 92,000 ล้านเยน ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมรัฐบาลถึงออกมาสนับสนุนวิสาหกิจเอกชนอย่างเต็มที่ตอนนี้

ธุรกิจขนาด 8 – 11 ล้านล้านเยนเชียวน่ะ
Salary-man Kintaro การ์ตูนยอดฮิตสำหรับคนทำงาน
“เด็กเกิดน้อย คนแก่ตายยาก” เป็นปัญหาใหญ่ที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญในขณะนี้ ธุรกิจใดๆที่เกี่ยวกับเด็กพากันเตรียมตัวปรับโครงสร้างตลาดกันตามๆ ตลาดในเอเซียโดยเฉพาะอินเดียซึ่งมีเด็กและผู้คนในวัยพร้อมบริโภคการ์ตูนรอคอยอยู่มากมายกลายเป็นตลาดใหญ่ของโลกในขณะนี้ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ กระทรวงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นได้อนุมัติงบประมาณก้อนใหญ่เพื่อสนับสนุนบริษัทการ์ตูน เครื่องเขียน ของเล่น ฯลฯ รวม 13 บริษัทให้ไปทดลองวางขายสินค้าในอินเดีย โดยบริษัทค้าปลีกในอินเดียได้รับเป็นผู้หาตลาดให้ สนุกกันใหญ่แล้วคราวนี้ หลังจากนั้นกระทรวงฯยังเตรียมคลอดสารพัดโปรเจคอีก 12 รายการ โดยจะให้แล้วเสร็จภายในปี 2020 และถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน ก็จะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศถึง 8 -11 ล้านล้านเยนทีเดียว และไม่เพียงแต่เงินก้อนที่ว่าเท่านั้น การ์ตูนยังจะสร้างแฟนพันธุ์แท้ของญี่ปุ่นได้อีกมากมาย บรรดาโรงแรมและเรียวกังคงต้องเตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวภารตะทั้งหลายที่จะทยอยกันมาในอนาคตแต่เนิ่นๆ


ถึงเวลานั้น เห็นที่จะต้องรีบทำไม้ไว้ขายบ้าง เอาไว้ตีแขกไงล่ะ ญี่ปุ่นจะรู้ไหมน่ะว่า แขกนั้นร้ายกว่างูเสียอีก

No comments:

Post a Comment