Monday, February 6, 2012

อาบน้ำกับกินข้าว เลือกอะไรก่อน ?


ละครทีวีเกี่ยวกับครอบครัวญี่ปุ่นไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบันมักมีฉากที่กี่ปีๆก็ไม่เปลี่ยนแปลง คือฉากที่แม่บ้านมักจะถามพ่อบ้านหลังจากที่กลับจากที่ทำงานมาถึงบ้านว่า “จะอาบน้ำก่อน หรือจะทานข้าวก่อน” ภาษาญี่ปุ่นก็บอกว่า “Ofuro ni shimasu ka? Gohan ni shimasu ka?” (ทำเสียงหวานๆตอนอ่านด้วย) พ่อบ้านส่วนใหญ่มักจะเลือกไปอาบน้ำก่อนโดยเฉพาะในวันที่อากาศหนาวเย็นเช่นวันนี้ การได้ลงไปแช่ในอ่างน้ำร้อนสัก 5-10 นาทีสามารถทำให้ร่างกายอบอุ่นและผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าได้อย่างมากทีเดียว หลังจากนั้นจึงค่อยมานั่งทานข้าว

กลายเป็นผู้อพยพไม่มีน้ำร้อนอาบ
Ofuro ที่ตีนเขา Kongo ชานกรุงโอซากา
เมื่อราวทุ่มหนึ่งของคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จู่ๆเจ้าแผงควบคุมเครื่องทำน้ำร้อนที่บ้านเกิดสไตรค์ไม่ทำงานเอาดื้อๆ ไม่ว่าจะพยายามกดคัตเอาว์ตลงสักกี่ครั้งก็ตาม ก็ไม่มีที่ท่าว่าจะฟื้นคืนชีพเลย จึงต้องวิ่งวุ่นหาหมายเลขโทรศัพท์ทั้งบริษัทแก๊สและบริษัทดูแลบ้าน หลังจากทั้งขู่ทั้งขอร้องให้เจ้าหน้าที่บริษัทมาดูว่ามันชำรุดตรงไหน กว่าเจ้าหน้าที่จะมาและรู้ผล เวลาก็ล่วงเลยมาเกือบสองยาม ท้ายสุดก็อดช็อคกิ้งไม่ได้เมื่อรู้ว่าท่อน้ำประปาในเครื่องรั่วและตัวเครื่องเองก็เก่าสมควรต้องปลดระวางแล้ว และที่สำคัญที่ทำให้พวกเราสามคนพ่อแม่ลูกหนาวสั่นกว่าอุณหภูมิในวันนั้นคือเมื่อรู้ว่าอาจกินเวลาหลายวันกว่าจะหาเครื่องทำน้ำร้อนที่เข้ากับท่อในห้องเก็บเครื่องที่บ้านได้

ได้เรื่องแล้ว หัวฉันก็ยังไม่ได้ซัก เอ้ย ไม่ได้สระ วันรุ่งขึ้นก็ต้องไปทำงานแต่เช้า จะเรียกรถแท็กซี่มารับพาไปโรงอาบน้ำรวม (Sento) ที่สถานีข้างๆก็ดึกเกินไป ก็เลยตัดสินใจนอนเอาผ้าห่มไฟฟ้าช่วยอุ่นร่างกายไปก่อน และในเช้าวันรุ่งขึ้นจึงตื่นมาต้มน้ำร้อนด้วยกาต้มน้ำผสมน้ำเย็นพอล้างหน้าล้างตาไปพลางๆก่อนที่จะออกไปทำงาน และช่วงเย็นก็แยกย้ายกันเป็นผู้อพยพเร่ร่อนไปหาที่อาบน้ำ โชคดีที่ฉันมีนัดกับน้องคนไทยที่สนิทกันเลยไปขออาบน้ำบ้านเขา แต่ก็ไม่ได้ลงไปแช่ในอ่างอาบน้ำทำให้รู้สึกเหมือนขาดอะไรไป ส่วนสามีและลูกนั้นซักแห้งไปสองวัน

อาบไปคุยไปถึงจะเป็นญี่ปุ่นแท้
จะลองซาวเนอร์ก็ได้สำหรับคนที่ชอบ
ครั้งแรกที่ฉันอาบน้ำรวมในโรงอาบน้ำนั้นล่วงเลยมาสัก 25 ปีได้แล้ว หลังจากที่ถูกรุ่นพี่ในกลุ่มสัมมนาเดียวกันลากไปอาบที่ห้องอาบน้ำรวมในเรียวกังที่ไปพัก แม้ทุกวันนี้ยังจดจำความกระดากอายและความกลัวการต้องเปลื้องผ้าอาบน้ำกับคนอื่นๆจนถึงทุกวันนี้ไม่ได้ ในวันนั้นมีหญิงชราในวัย 70 เศษเข้ามาอาบด้วย ขณะที่กำลังถอดเสื้อผ้าเก็บในล้อคเกอร์ก่อนที่จะแยกย้ายกันเดินเข้าไปในห้องที่มีบ่อน้ำร้อนอยู่นั่นเอง ก็มีเสียงผู้ชายตะโกนโวกเวกอยู่ด้านนอกให้มาเอากุญแจไปเก็บ หลังจากได้ยินเสียงชายดังกล่าว หญิงชราก็รู้ได้ว่าเป็นสามีของเธอที่กำลังจะไปอาบน้ำที่ห้องผู้ชายและต้องการให้เธอเก็บกุญแจไว้ เธอจึงเรียกให้เขาโผล่เข้ามาเอากุญแจ....ในขณะที่พวกเรากำลังเปลื้องผ้าอยู่ “ว้าย โอย เฮ้ย....” และอีกสารพัดคำอุทานนานาประการที่หลุดออกมาจากปากฉันเมื่อคุณลุงคนนั้นเดินเข้ามา และก็ออกไปเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา

ความตกตะลึงยังไม่ทันเลือนลางแม้เข้าไปนั่งไขก๊อกเพื่อเปิดน้ำชะล้างเนื้อตัวและสระผมก่อนลงแช่ในอ่าง เพื่อนรุ่นพี่ที่พาฉันเข้าไปอาบน้ำก็เริ่มยิงคำถามสารพัด “เธอทำวิจัยเรื่องอะไรหรือ ?” “กำหนดพรีเซนต์เมื่อไร ?” “ทำไมเลือกมาเรียนที่ญี่ปุ่นล่ะ ?”  โอ้ย ทำไมจะต้องมาถามอะไรตอนนี้ด้วย ปล่อยให้อาบน้ำขัดถูตามลำพังไม่ได้หรืออย่างไร พลันหันไปแวบดูคนรอบข้างที่มากันเป็นคู่เป็นกรุ้ป ก็เห็นว่าเขาคุยกันอย่างสนุกสนานและไม่คิดที่จะปิดบังส่วนใดๆของร่างกายเลย ลูกสาวที่มากับแม่บางคนก็ช่วยใช้ผ้าเช็ดตัวผืนเล็กๆถูหลังให้แม่บ้าง เดินลงไปคุยต่อในอ่างบ้าง ต่างกับฉันที่รีบๆอาบและนั่งแข็งทื่ออยู่ในอ่างสักพักก่อนที่จะหาโอกาสหลบรุ่นพี่ขึ้นมาแต่งเนื้อแต่งตัวก่อนคนเดียว

สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว การอาบน้ำในโรงอาบน้ำใหญ่ๆเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ผ่อนคลายได้มาก และเมื่อผ่อนคลาย บทสนทนาระหว่างเพื่อนพ้องหรือแม่ลูกจึงออกมาตามธรรมชาติ สร้างบรรยากาศเป็นกันเองได้ดียิ่ง

สารพัดเครื่องไม้เครื่องมือในกิจกรรมอาบน้ำ
ผงกลิ่นดอกไม้สารพัดไว้โรยปนในน้ำร้อน
ทุกวันนี้ แทบทุกบ้านไม่ว่าในเมืองหลวงหรือต่างจังหวัดจะมีห้องอาบน้ำของตนเองกัน จึงอาบได้ทุกเมื่อไม่ว่าเช้าหรือเย็น แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะอาบกันตอนเย็นโดยเฉพาะในหน้าหนาว จากผลสำรวจของบริษัท Weather News เมื่อเดือนมกราคม 2012 นี้ พบว่าคนญี่ปุ่นจะใช้เวลาเฉลี่ยในการอาบน้ำราว 36 นาที และลงแช่ในอ่างน้ำร้อนราว 18 นาที อุณหภูมิของน้ำเฉลี่ยราว 41 องศาเซลเซียส บางคนชอบร้อนมากๆจนเนื้อตัวแดงกล่ำควันโชยติดตัวหลังขึ้นมาจากอ่างแล้วก็มี หลายคนคงสงสัยว่าจะแช่อะไรกันได้นานนมขนาดนั้น คือว่าการอาบน้ำถือเป็นศิลโปะอย่างหนึ่งสำหรับคนญี่ปุ่นก็ว่าได้ นอกจากผ้าสำหรับขัดเนื้อขัดตัวสารพัดรูปแบบแล้ว ตามโรงอาบน้ำใหญ่ๆจะมีการนำเอาลูกมะกรูด ส้ม แอปเปิ้ล และดอกไม้ใบหญ้าที่สร้างกลิ่นหอมชวนให้ผ่อนคลายได้มาลอยตุ๊บป๋องๆในอ่างสร้างบรรยากาศที่แตกต่างกันไปตามฤดูกาลได้อย่างดี แต่ละบ้านเองก็มักจะมีผงสำหรับโรยในน้ำที่ตนโปรดปราน (Nyuyokuzai) กักตุนอยู่ ที่บ้านฉันก็มีผงกลิ่นลาเวนเดอร์ กลิ่นกุหลาบ ผงน้ำเชื้อนำแร่จากบ่อน้ำร้อนที่มีชื่อทั่วประเทศ ฯลฯ ที่เพื่อนฝูงซื้อมาเผื่อหรือเก็บตกมาจากโรงแรมที่ไปพักมาบ้าง แต่ก็ใช้บ้างไม่ได้ใช้บ้างตามเรื่อง แค่น้ำร้อนธรรมดาก็สามารถลดความเหนื่อยเมื่อยล้าไปได้เพียงพอแล้วสำหรับเรา แต่สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือเครื่องดื่มหลังอาบน้ำเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นน้ำชา น้ำเย็น รวมทั้งไอสกรีมในหน้าร้อนด้วย วันไหนมีเวลาก็ต่อด้วยเก้าอี้นวดไฟฟ้าสัก 15 นาที ก็มีความสุขได้ตามอัตภาพแล้ว
ผงน้ำแร่จากบ่อที่มีชื่อเสียงในญี่ปุ่น

หลังๆมานี้ ตามบ้านจัดสรรหรือแมนชั่นหรูหราบางแห่งยังมีโทรทัศน์ไว้ให้ชมในห้องน้ำ บ้านที่ลูกยังเล็กก็หาซื้อของเล่นที่นำไปเล่นในอ่างอาบน้ำด้วยและพากันอาบพร้อมกันทั้งพ่อแม่ลูกก็มี ก็คงความที่ธรรมเนียมการอาบน้ำรวมนี้ทำกันมาแต่เล็กแต่น้อยนี่เอง ที่ทำให้คนญี่ปุ่นมักชินกับการอาบน้ำด้วยกันไม่ว่าจะกับคนรู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม ต่างกับคนไทยเราอย่างสิ้นเชิงที่แม้แต่ระหว่างแม่และลูกสาวยังใส่ผ้าถุงอาบหรือแยกกันอาบ






ไม่มีทั้งน้ำร้อน และข้าวเย็น
คุณน้ำคนนี้มาเปลี่ยนเครื่องทำน้ำร้อนเสร็จ กวาดหน้าบ้านให้ด้วย
สองวันหลังจากเครื่องทำน้ำร้อนเสีย บริษัทที่รับดูแลห้องพักก็ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจตราเครื่องและก็นำเครื่องใหม่มาเปลี่ยนให้ ในที่สุดเราก็ได้อาบน้ำกันสบายๆที่บ้านอีกในรอบ 3 วัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเหมือนในละครโทรทัศน์ที่แม่บ้านจะเตรียมน้ำร้อนและข้าวเย็นไว้คอยหลอกน่ะ เพราะฉันเองก็กลับช้ากว่าสามีและลูกบ้าง หรือวันไหนที่อยู่บ้านก็ยิ่งพลอยขี้เกียจออกไปหาซื้อวัสดุมาทำอาหาร ตกเย็นก็นั่งเฝ้าโทรศัพท์รอสามีหรือลูกที่จะโทรกลับมา เปล่า ไม่ได้ถามเขานะว่าจะอาบน้ำก่อนหรือจะกินข้าวก่อน จะคอยสั่งให้เขาซื้อปิ่นโตกลับมาเผื่อฉันด้วยไง

30 กว่าปีในญี่ปุ่นถึงแม้จะทำให้ฉันชอบอาบน้ำร้อนเหมือนคนญี่ปุ่นได้ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนนิสัยไม่ชอบปรนนิบัติของหญิงไทยอย่างฉันได้เลย ว่าแล้วก็ไปอาบน้ำก่อนเข้านอนคืนนี้ดีกว่า

Saturday, January 28, 2012

ตายแล้วไปไหน



ตั้งแต่ย่างเข้า 50 มา บางครั้งก็อดคิดเรื่องแก่เรื่องตายไม่ได้ เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันที่ตายไปแล้วก็หลายคน แต่คนไทยเรามักไม่ค่อยติดกับเรื่องตายเท่าไร เผาเสร็จแล้วก็เสร็จเลยเป็นส่วนใหญ่ ไม่เหมือนกับคนจีนหรือญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญทั้งด้านพิธีกรรมงานศพและที่อยู่หลังตาย หลายท่านอาจไม่ทราบมาก่อนว่าไม่ใช่คนญี่ปุ่นทุกคนหลอกน่ะที่ตายแล้วจะมีสุสานกัน เหมือนเช่นพ่อแม่สามีซึ่งตายไปเกือบสิบปีแล้ว ตอนนี้ไปเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวกันที่วัด Isshin-ji ในเมืองโอซากา

“ดูที่ทางไว้หรือยังค่ะ”
พระประธานในโบสถ์วัด Isshin-ji
อยู่บ้านทีไรได้เรื่องทุกที ต้องคอยนั่งรับโทรศัพท์จากคุณป้าเสียงหวานชวนซื้อที่ซื้อทางอยุ่เป็นประจำ แรกๆก็ซื่อบื่อไม่รู้หลอกน่ะว่าเป็นที่อะไร “Senri Memorial ค่ะ เพิ่งเปิดใหม่ ล้อมรอบด้วยภูเขาเขียวขจี มีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดนะค่ะ” ไม่ใช่คอนโดค่ะ เธอโทรมาชวนให้ไปซื้อที่เก็บไว้ทำสุสาน รีบปฏิเสธแทบไม่ทัน แถมบางคนตื๊อต่อด้วย “แน่ใจหรือค่ะว่ายังไม่จำเป็น” มาถึงตอนนี้ เล่นเอาตั้งตัวไม่ติดเหมือนกันเพราะใครจะไปแน่ใจได้ว่าจะตายเมื่อไร

ปกติผู้สูงอายุญี่ปุ่นจะเตรียมที่ทางไว้อยู่หลังตายแล้วกันเป็นส่วนใหญ่ คนไหนที่เป็นลูกชายคนโตของตระกูลก็รับทอดสุสานของปู่ย่าตายาย หลังเผาเสร็จก็เอากระดูกส่วนหนึ่งใส่โถไปเก็บในสุสานเล็กๆเรียงรายใกล้กัน แต่สำหรับลูกชายคนรองหรือคนต่อๆมาก็ต้องไปขยับขยายหาที่ทางเอาเอง ทำให้ธุรกิจด้านที่ดินผืนน้อยนิดนี้ค่อนข้างรุ่งเรืองโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆซึ่งคนร้อยพ่อพันธุ์แม่เข้ามาทำมาหากิน ลองคิดดูซิว่าผ่อนบ้านกว่า 35 ปีเสร็จยังต่อมาผ่อนที่สำหรับทำสุสานราคาเหยียบ 3-4 ล้านเยนอีก ชีวิตที่นี่ทรหดแค่ไหน

วัดสำหรับลูกชายคนรอง
พระสงฆ์กำลังสวด
สัก 10 ปีก่อนหน้านี้ได้ที่พ่อของสามีลื่นล้มตกบันไดที่โรงพยาบาลและเสียชีวิตไป หลังจากดูแลภรรยาซึ่งป่วยเป็นอัมพาตอย่างหนักมากว่า 22 ปี ทำให้พวกเราต้องวิ่งหาที่เก็บกระดูกของพ่อซึ่งเป็นลูกชายคนรองและต้องออกไปหาสุสานเอง หลังจากสวดหนึ่งคืน เผาในวันรุ่งขึ้น และทำบุญครบรอบ 49 วันแล้ว ก็ถึงเวลานำกระดูกไปเก็บ ซึ่งท้ายสุดเราก็ตัดสินใจเลือกวัด Isshin-ji ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอ Tennoji กลางกรุงโอซากาเป็นที่บรรจุกระดูกของพ่อ

วัด Isshin-ji ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีค.ศ.1185 มีชื่อเสียงด้านประวัติศาสตร์ว่าเคยเป็นที่ตั้งกองกำลังของ Tokugawa Ieyasu  (ปกครองประเทศจากค.ศ. 1603-1605) สมัยที่ยกทัพมาเพื่อยึดครองอำนาจจากตระกูลโทะโยะโทะมิ แต่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักวัดนี้ในนามของ “วัดพระพุทธรูปทำจากอัฐิ” (Kotsubotoke no Tera)

พระพุทธรูปทำจากอัฐิ
ใช่แล้ว พระพุทธรูปของวัดนี้ทำจากอัฐิผู้คนที่เสียชีวิตไปแล้ว ว่ากันว่าแต่ไหนแต่ไรชาวพุทธที่นี่มีธรรมเนียมนำเอากระดูก อังคาร หรือเส้นผมของญาติมิตรที่เสียชีวิตไปๆเก็บและทำบุญที่วัด ที่มีเงินก็สร้างสุสานของตนเองในบริเวณวัด ที่ไม่มีเงินก็นำมาทำบุญแล้วก็ฝากกระดูกไว้เช่นนั้น ซึ่งทางวัดก็รับทำพิธีให้มาตั้งแต่ปี 1856 เป็นต้นมา จนกระดูกแทบจะไม่มีที่เก็บต่อไป ทางวัดก็เลยปรึกษากันว่าให้รวบรวมเอากระดูกเหล่านั้นมาเผาและหล่อเป็นพระพุทธรูปทุกๆสิบปีซะ ผู้คนที่เสียชีวิตไปจะได้ไปสู่สุขคติ ลูกหลานก็มากราบไหว้ได้ทุกเมื่อ และนั่นคือที่มาของพระพุทธรูปทำจากอัฐิองค์แรกในปี 1887 ซึ่งใช้อัฐิของคนกว่า 2 ล้านคนเป็นวัสดุ องค์ล่าสุดนี้หล่อเมื่อปี 2007 ใช้อัฐิรวมทั้งสิ้น 163,254 คน และสองในจำนวนแสนกว่ารายของกระดูกดังกล่าวคือกระดูกของพ่อและแม่สามีซึ่งเสียชีวิตใน 3 ปีต่อมา ไล่เลี่ยกันทันรวมเป็นพระองค์เดียวกันพอดี

“ถึงเวลาทำบุญแล้วน่ะ”
พระสงฆ์เขียนชื่อผู้เสียชีวิตบรกระดาษไม้ไผ่
เมื่อครบกำหนดวันเสียชีวิตของแต่ละคน ทางวัดจะส่งไปรษณียบัตรมาที่บ้าน เตือนให้ลูกหลานไปทำบุญรำลึกถึงการจากไปของบรรพบุรุษที่ไปฝากกระดูกทำเป็นพระพุทธรูปไว้ สำหรับที่บ้านนั้น ไปรษณียบัตรจะมาทุกๆเดือนมกราคม โดยแยกมาของพ่อใบหนึ่งของแม่อีกใบหนึ่งซึ่งบังเอิญเสียชีวิตในเดือนมกราคมเหมือนกัน ทำให้เรารวบรัดไปทำบุญพร้อมกันทีเดียวได้เลย แถมที่วัดนี้ยังมีการบริหารจัดการที่เยี่ยมยอดด้วย คือตอนเรานำอัฐิของพ่อและแม่ไปฝากที่วัดนั้น ได้ขอให้ทางวัดทำบุญให้แบบถาวร (สัญญา 33 ปี) โดยมีค่าใช้จ่ายตามอัตราที่วัดกำหนดคือ 1 แสนเยน ซึ่งเป็นเรตที่ไม่เป็นภาระกับลูกหลาน ทำให้ลูกหลานสามารถเดินทางไปทำบุญได้ทุกๆปี บรรพบุรุษก็พลอยชื่นมื่นด้วย

ดอกไม้หน้าโบสถ์เล็กด้านข้าง
วันนี้เป็นวันที่สามีมาชวนไปทำบุญที่วัดอีกครั้งหนึ่ง ก่อนอื่นก็พากันไปเข้าแถวที่แผนกลงทะเบียนซึ่งพระสงฆ์และเจ้าหน้าที่วัดจะมาคอยรับไปรษณียบัตรที่แต่ละคนนำไปแสดง หลังจากนั้นพระสงฆ์ก็จะเขียนชื่อบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปบนแผ่นกระดาษคล้ายกระดาษไม้ไผ่ ส่งให้ลูกหลานนำไปที่โบสถ์ใหญ่ เพื่อไปคอยให้หลวงพี่หลวงน้าเรียกชื่อตามคิวเข้าไปทีละครอบครัว วันนี้เป็นวันเสาวร์ ผู้คนก็ค่อนข้างมากหน่อย คอยอยู่สักครึ่งชั่วโมงก็ถึงคิวเรา “มัทสุโอะ ยาสุฮิโระ-ซังและครอบครัวเชิญด้านนี้” ว่าแล้วก็ขยับไปฟังพระสวด 2 อึดใจ นำป้ายชื่อพ่อแม่ไปปักหน้าพระพุทธรูป พระสงฆ์ขานชื่ออำนวยพรให้อยู่ดีมีสุขบนสวงสวรรค์ทำนองนั้น เสร็จรับขนมที่ระลึกจากมือพระเป็นอันเสร็จสิ้น รวมสิริเวลาราว 3 นาที “ทำไมถึงสั้นอย่างนี้ ?” ทีแรกก็ตกใจตาเหลือกเหมือนกันน่ะ แต่นี่ปีที่สิบแล้วเลยชิน แหม วันๆหนึ่งมีผู้คนมากว่า 4-500 ราย จะให้สวดข้ามวันข้ามคืนแบบเมืองไทย ให้เกณฑ์พระมาทั่วประเทศก็คงเอาไม่อยู่ (ขอยืมใช้บ้าง มีค่าลิขสิทธิ์ไหมเนี่ย) เอาพอหอมปากหอมคอก็พอ

เสร็จจากสวด 3 นาที รอครึ่งชั่วโมง แต่ละคนก็ลงจากโบสถ์ใหญ่ ขยับไปที่โบสถ์เล็กด้านข้างซึ่งด้านในเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปที่ทำจากอัฐิเรียงรายกันอยู่ตอนนี้รวม 8 องค์ (องค์ก่อนหน้านั้นเสียหายไประหว่างสงคราม) ต่างคนก็มองหาพระพุทธรูปองค์ที่ใช้กระดูกบรรพบุรุษตนสร้าง จุดธูปเทียนปักดอกไม้กราบไหว้ สามีเอากาแฟติดมือไปสองกระป๋องไปวางไว้ที่หน้าองค์พระพุทธปี 2007 ด้วย บอกว่าพ่อและแม่ชอบกินกาแฟ หลังจากนั้นก็เป็นอันเสร็จสิ้นแยกย้ายกันกลับ รอไปรษณียบัตรปีหน้าใหม่

ไปไหนดีล่ะ ฉัน ?
หอธรรมด้านนอกวัด มีพระพุทธรูปเรียงรายเป็นร้อยๆองค์
หลังจากเริ่มนึกเรื่องแก่เรื่องตาย เวลาก็ผ่านมาได้สัก 2-3 ปีแล้ว ที่ดินทำสุสานนั้นคงไม่ซื้อแน่ เพราะรู้สึกสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ จะให้ไปเป็นพระพุทธรูปแบบพ่อและแม่สามีดี หรือไปอยู่ในเจดีย์วัดที่เมืองไทยดี หรือแค่นำอังคารไปลอยออกทะเลหายไปกับคลื่นลมเลยก็ไม่เลวน่ะ หรือจะเอาแบบพ่อตัวเองที่ไปเซ็นมอบร่างไว้กับสภากาชาดแล้วดี เอ้ เรื่องนี้ต้องปรึกษาสามีแต่เนิ่นๆไหมน่ะ เดี๋ยว ขอไปดูกรมธรรมณ์ประกันชีวิตก่อนว่าชื่อผู้รับเป็นใคร แล้วค่อยคิดเรื่องที่อยู่หลังตายแล้วกัน

ที่อยู่หลังตาย ?

Sunday, January 15, 2012

การ์ตูนญี่ปุ่นบุกอินเดีย


หลายปีมานี้ ญี่ปุ่นดูเหมือนจะถูกเกาหลีตีตลาดเอเซียไปมากทีเดียว ไม่ว่าจะด้านแฟชั่น เพลง หรือว่าละคร เด็กไทยจำนวนไม่น้อยหลงไหลเกาหลี และทำท่าเหมือนกับจะลืมญี่ปุ่นไปง่ายๆยังงั้น หลังพักรบดูลาดลาวมาสักพัก ญี่ปุ่นก็เริ่มบุกอีกครั้ง คราวนี้เริ่มจากเมืองภารตะ ตลาดยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในเอเซีย แถมไม่ใช่แค่ขายหนังสือหรือฉายการ์ตูนหลอกเด็กเท่านั้น แต่จะเข้าไปปักหลักใช้อินเดียเป็นฐานผลิตการ์ตูนเลยด้วย

สุราจ ดาวเด่นวงการคริกเกตอินเดีย

หากถามคนญี่ปุ่นในวัย 50 เศษว่าสมัยเด็กๆเคยดูการ์ตูนเรื่องอะไร ? เชื่อได้ว่าคนจำนวนไม่น้อยจะตอบว่า “Kyojin no Hoshi“ หรือที่ฝรั่งนำไปแปลเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษว่า “Star of the Giants” (ดาวเด่นของทีมเบสบอลล์ Giants) มันเป็นเรื่องราวของ Hoshi Hyuma นักกีฬาเบสบอลล์ดาวเด่นของทีม Yomiuri Giants ซึ่งพ่ออดีตนักกีฬาสังกัดทีมดังกล่าวได้ปลูกฝังให้รักกีฬา น้ำใจนักกีฬาและความอดทนของเขาถูกปลูกฝังมาอย่างไรดูจะเป็นหัวใจสำคัญสร้างความประทับใจต่อผู้อ่านการ์ตูนประเภท “Spo-ne”(กีฬากับการต่อสู้) เอามากๆทีเดียว ด้วยเหตุนี้กระมังที่สำนักพิมพ์ Kodansha เจ้าของลิขสิทธ์ตกลงที่จะรีเมคภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องที่ว่านี้ นำไปฉายทั่วอินเดียจากฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ (กันยา-พฤศจิกา) โดยเปลี่ยนจากเบสบอลล์มาเป็นคริกเกต (Cricket) กีฬายอดนิยมของชาวภารตะ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “Rising Star”


“สุราจ” คือตัวเอกของเรื่อง มีชีวิตครอบครัวคล้าย Hoshi พ่อของสุราจเป็นอดีตนักกีฬาทีมชาติ แต่จากอุบัติเหตุรถยนต์ทำให้แขนใช้การไม่ได้ ต้องลาออกไปทำงานก่อสร้างหาเงินเลี้ยงและอบรมสั่งสอนสุราจ จนเขากลายเป็นนักกีฬาดาวเด่นของทีมในเมืองมุมไบ มีผู้คนหลงไหลมากกว่านักกีฬาคนอื่นที่มาจากครอบครัวมีอันจะกิน  อ่านมาเท่านี้ก็พอจะเดาได้ว่าผู้ชมชาวภารตะต้องเตรียมผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าโผกศรีษะไว้เช็ดน้ำตากันตามๆแน่


มุมไบเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าฝั่งตะวันตกของอินเดีย มีมหาเศรษฐีอันดับ 9 ของโลกที่มีสมบัติกว่า 27,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยมีชีวิตอยู่ด้วยการเก็บขยะขายวันละ 30 รูปี (ประมาณ 15 บาท)


ทศวรรษ 1950-60 เป็นช่วงที่คนญี่ปุ่นพากันสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยความมานะจนกระทั่งประเทศมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีละกว่าร้อยละ10 ติดๆกันอยู่หลายต่อหลายปี นักวิเคราะห์เชื่อว่าผู้ชมการ์ตูนหลายรายชอบการ์ตูนดังกล่าวเพราะการนำตัวเองไปเทียบซ้อนกับตัวเอกของเรื่อง ทำให้มีกำลังใจมุ่งมั่นทำงานต่อไป สำนักพิมพ์โคดังชะเล็งว่าอินเดียปัจจุบันคล้ายกับญี่ปุ่นในเวลานั้นมาก จึงคาดว่า “Rising Star” ก็จะเป็นที่ฮอตฮิตหลังจากที่ก่อนหน้านี้ โดราเอมอน และ นินจา ฮัตโตริได้รับความนิยมมาแล้ว

นินจาฮัตโตริ, เครยอง ชินจัง เมด อิน อินเดีย

หนูน้อยเครยอง ชินจัง
“นินจาฮัตโตริ-กุง”  เป็นการ์ตูนอีกเรื่องหนึ่งที่ฮอตฮิตมาช้านาน เมื่อไม่กี่วันมานี้ Asahi T.V เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ได้ตกลงให้บริษัท Reliance Media Works บริษัทผู้ผลิตการ์ตูนรายใหญ่ของอินเดียเป็นผู้ผลิตนินจา ฮัตโตริตอนใหม่ (ตอนที่ 26) ซึ่งจะคลอดออกมาในรอบ 25 ปี “เมด อิน อินเดีย” นั้นประหยัดค่าใช้จ่ายได้กว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับรุ่น “เมด อิน แจแปน” ดูเหมือนอุตสาหกรรมการ์ตูนก็จะเหมือนๆรถยนต์ หรืออุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ซะแล้ว ส่งไปผลิตนอกประเทศ นำเข้าย้อนกลับมาที่ญี่ปุ่น ข่าวมาว่านอกจากจะฉายในอินเดียจากเดือนพฤษภาคมนี้แล้ว เรื่องใหม่นี้ก็จะถูกส่งไปฉายในเกาหลี ไทย และประเทศเอเซียรวม 10 ประเทศด้วย หากไม่มีอุปสรรคร้ายแรงใดๆเกิดขึ้น Asahi T.V ยังได้ประกาศว่าจะใช้อินเดียเป็นฐานผลิตภาพยนตร์การ์ตูนที่ตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “เครยอง ชินจัง” หรือ “ปาร์แมน” เป็นต้น เรียกได้ว่าสำหรับการ์ตูนนิสต์ชาวภารตะนั้น อยู่ในภาวะส้มหล่นแน่


ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ผลิตก็ตาม เอกลักษณ์ของการ์ตูนก็คงจะรักษาสไตล์ญี่ปุ่นต่อไป แต่ในใจก็อดอยากเห็นนินจา ฮัตโตริหรือหนูน้อยชินจังปีนทัชมาฮาล หรือไปหาแกงกะหรี่อินเดียกินบ้างนิดๆเหมือนกัน นอกจากตัวภาพยนตร์แล้ว เชื่อว่าบริษัทจะผลิตสินค้าขายและใช้เป็นคาแรคเตอร์โฆษณาทั่วเอเซียด้วย ขนาดในปี 2010 ที่จำนวนภาพยนตร์ลดลงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับในปี 2006 อันเป็นปีทองแล้วก็ตาม ก็ยังมีภาพยนตร์ออกมาฉายถึง 195 เรื่อง รายได้จากการโฆษณาและขายสินค้าเท่ากับ 92,000 ล้านเยน ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมรัฐบาลถึงออกมาสนับสนุนวิสาหกิจเอกชนอย่างเต็มที่ตอนนี้

ธุรกิจขนาด 8 – 11 ล้านล้านเยนเชียวน่ะ
Salary-man Kintaro การ์ตูนยอดฮิตสำหรับคนทำงาน
“เด็กเกิดน้อย คนแก่ตายยาก” เป็นปัญหาใหญ่ที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญในขณะนี้ ธุรกิจใดๆที่เกี่ยวกับเด็กพากันเตรียมตัวปรับโครงสร้างตลาดกันตามๆ ตลาดในเอเซียโดยเฉพาะอินเดียซึ่งมีเด็กและผู้คนในวัยพร้อมบริโภคการ์ตูนรอคอยอยู่มากมายกลายเป็นตลาดใหญ่ของโลกในขณะนี้ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ กระทรวงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นได้อนุมัติงบประมาณก้อนใหญ่เพื่อสนับสนุนบริษัทการ์ตูน เครื่องเขียน ของเล่น ฯลฯ รวม 13 บริษัทให้ไปทดลองวางขายสินค้าในอินเดีย โดยบริษัทค้าปลีกในอินเดียได้รับเป็นผู้หาตลาดให้ สนุกกันใหญ่แล้วคราวนี้ หลังจากนั้นกระทรวงฯยังเตรียมคลอดสารพัดโปรเจคอีก 12 รายการ โดยจะให้แล้วเสร็จภายในปี 2020 และถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน ก็จะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศถึง 8 -11 ล้านล้านเยนทีเดียว และไม่เพียงแต่เงินก้อนที่ว่าเท่านั้น การ์ตูนยังจะสร้างแฟนพันธุ์แท้ของญี่ปุ่นได้อีกมากมาย บรรดาโรงแรมและเรียวกังคงต้องเตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวภารตะทั้งหลายที่จะทยอยกันมาในอนาคตแต่เนิ่นๆ


ถึงเวลานั้น เห็นที่จะต้องรีบทำไม้ไว้ขายบ้าง เอาไว้ตีแขกไงล่ะ ญี่ปุ่นจะรู้ไหมน่ะว่า แขกนั้นร้ายกว่างูเสียอีก