Monday, February 6, 2012

อาบน้ำกับกินข้าว เลือกอะไรก่อน ?


ละครทีวีเกี่ยวกับครอบครัวญี่ปุ่นไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบันมักมีฉากที่กี่ปีๆก็ไม่เปลี่ยนแปลง คือฉากที่แม่บ้านมักจะถามพ่อบ้านหลังจากที่กลับจากที่ทำงานมาถึงบ้านว่า “จะอาบน้ำก่อน หรือจะทานข้าวก่อน” ภาษาญี่ปุ่นก็บอกว่า “Ofuro ni shimasu ka? Gohan ni shimasu ka?” (ทำเสียงหวานๆตอนอ่านด้วย) พ่อบ้านส่วนใหญ่มักจะเลือกไปอาบน้ำก่อนโดยเฉพาะในวันที่อากาศหนาวเย็นเช่นวันนี้ การได้ลงไปแช่ในอ่างน้ำร้อนสัก 5-10 นาทีสามารถทำให้ร่างกายอบอุ่นและผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าได้อย่างมากทีเดียว หลังจากนั้นจึงค่อยมานั่งทานข้าว

กลายเป็นผู้อพยพไม่มีน้ำร้อนอาบ
Ofuro ที่ตีนเขา Kongo ชานกรุงโอซากา
เมื่อราวทุ่มหนึ่งของคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จู่ๆเจ้าแผงควบคุมเครื่องทำน้ำร้อนที่บ้านเกิดสไตรค์ไม่ทำงานเอาดื้อๆ ไม่ว่าจะพยายามกดคัตเอาว์ตลงสักกี่ครั้งก็ตาม ก็ไม่มีที่ท่าว่าจะฟื้นคืนชีพเลย จึงต้องวิ่งวุ่นหาหมายเลขโทรศัพท์ทั้งบริษัทแก๊สและบริษัทดูแลบ้าน หลังจากทั้งขู่ทั้งขอร้องให้เจ้าหน้าที่บริษัทมาดูว่ามันชำรุดตรงไหน กว่าเจ้าหน้าที่จะมาและรู้ผล เวลาก็ล่วงเลยมาเกือบสองยาม ท้ายสุดก็อดช็อคกิ้งไม่ได้เมื่อรู้ว่าท่อน้ำประปาในเครื่องรั่วและตัวเครื่องเองก็เก่าสมควรต้องปลดระวางแล้ว และที่สำคัญที่ทำให้พวกเราสามคนพ่อแม่ลูกหนาวสั่นกว่าอุณหภูมิในวันนั้นคือเมื่อรู้ว่าอาจกินเวลาหลายวันกว่าจะหาเครื่องทำน้ำร้อนที่เข้ากับท่อในห้องเก็บเครื่องที่บ้านได้

ได้เรื่องแล้ว หัวฉันก็ยังไม่ได้ซัก เอ้ย ไม่ได้สระ วันรุ่งขึ้นก็ต้องไปทำงานแต่เช้า จะเรียกรถแท็กซี่มารับพาไปโรงอาบน้ำรวม (Sento) ที่สถานีข้างๆก็ดึกเกินไป ก็เลยตัดสินใจนอนเอาผ้าห่มไฟฟ้าช่วยอุ่นร่างกายไปก่อน และในเช้าวันรุ่งขึ้นจึงตื่นมาต้มน้ำร้อนด้วยกาต้มน้ำผสมน้ำเย็นพอล้างหน้าล้างตาไปพลางๆก่อนที่จะออกไปทำงาน และช่วงเย็นก็แยกย้ายกันเป็นผู้อพยพเร่ร่อนไปหาที่อาบน้ำ โชคดีที่ฉันมีนัดกับน้องคนไทยที่สนิทกันเลยไปขออาบน้ำบ้านเขา แต่ก็ไม่ได้ลงไปแช่ในอ่างอาบน้ำทำให้รู้สึกเหมือนขาดอะไรไป ส่วนสามีและลูกนั้นซักแห้งไปสองวัน

อาบไปคุยไปถึงจะเป็นญี่ปุ่นแท้
จะลองซาวเนอร์ก็ได้สำหรับคนที่ชอบ
ครั้งแรกที่ฉันอาบน้ำรวมในโรงอาบน้ำนั้นล่วงเลยมาสัก 25 ปีได้แล้ว หลังจากที่ถูกรุ่นพี่ในกลุ่มสัมมนาเดียวกันลากไปอาบที่ห้องอาบน้ำรวมในเรียวกังที่ไปพัก แม้ทุกวันนี้ยังจดจำความกระดากอายและความกลัวการต้องเปลื้องผ้าอาบน้ำกับคนอื่นๆจนถึงทุกวันนี้ไม่ได้ ในวันนั้นมีหญิงชราในวัย 70 เศษเข้ามาอาบด้วย ขณะที่กำลังถอดเสื้อผ้าเก็บในล้อคเกอร์ก่อนที่จะแยกย้ายกันเดินเข้าไปในห้องที่มีบ่อน้ำร้อนอยู่นั่นเอง ก็มีเสียงผู้ชายตะโกนโวกเวกอยู่ด้านนอกให้มาเอากุญแจไปเก็บ หลังจากได้ยินเสียงชายดังกล่าว หญิงชราก็รู้ได้ว่าเป็นสามีของเธอที่กำลังจะไปอาบน้ำที่ห้องผู้ชายและต้องการให้เธอเก็บกุญแจไว้ เธอจึงเรียกให้เขาโผล่เข้ามาเอากุญแจ....ในขณะที่พวกเรากำลังเปลื้องผ้าอยู่ “ว้าย โอย เฮ้ย....” และอีกสารพัดคำอุทานนานาประการที่หลุดออกมาจากปากฉันเมื่อคุณลุงคนนั้นเดินเข้ามา และก็ออกไปเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา

ความตกตะลึงยังไม่ทันเลือนลางแม้เข้าไปนั่งไขก๊อกเพื่อเปิดน้ำชะล้างเนื้อตัวและสระผมก่อนลงแช่ในอ่าง เพื่อนรุ่นพี่ที่พาฉันเข้าไปอาบน้ำก็เริ่มยิงคำถามสารพัด “เธอทำวิจัยเรื่องอะไรหรือ ?” “กำหนดพรีเซนต์เมื่อไร ?” “ทำไมเลือกมาเรียนที่ญี่ปุ่นล่ะ ?”  โอ้ย ทำไมจะต้องมาถามอะไรตอนนี้ด้วย ปล่อยให้อาบน้ำขัดถูตามลำพังไม่ได้หรืออย่างไร พลันหันไปแวบดูคนรอบข้างที่มากันเป็นคู่เป็นกรุ้ป ก็เห็นว่าเขาคุยกันอย่างสนุกสนานและไม่คิดที่จะปิดบังส่วนใดๆของร่างกายเลย ลูกสาวที่มากับแม่บางคนก็ช่วยใช้ผ้าเช็ดตัวผืนเล็กๆถูหลังให้แม่บ้าง เดินลงไปคุยต่อในอ่างบ้าง ต่างกับฉันที่รีบๆอาบและนั่งแข็งทื่ออยู่ในอ่างสักพักก่อนที่จะหาโอกาสหลบรุ่นพี่ขึ้นมาแต่งเนื้อแต่งตัวก่อนคนเดียว

สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว การอาบน้ำในโรงอาบน้ำใหญ่ๆเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ผ่อนคลายได้มาก และเมื่อผ่อนคลาย บทสนทนาระหว่างเพื่อนพ้องหรือแม่ลูกจึงออกมาตามธรรมชาติ สร้างบรรยากาศเป็นกันเองได้ดียิ่ง

สารพัดเครื่องไม้เครื่องมือในกิจกรรมอาบน้ำ
ผงกลิ่นดอกไม้สารพัดไว้โรยปนในน้ำร้อน
ทุกวันนี้ แทบทุกบ้านไม่ว่าในเมืองหลวงหรือต่างจังหวัดจะมีห้องอาบน้ำของตนเองกัน จึงอาบได้ทุกเมื่อไม่ว่าเช้าหรือเย็น แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะอาบกันตอนเย็นโดยเฉพาะในหน้าหนาว จากผลสำรวจของบริษัท Weather News เมื่อเดือนมกราคม 2012 นี้ พบว่าคนญี่ปุ่นจะใช้เวลาเฉลี่ยในการอาบน้ำราว 36 นาที และลงแช่ในอ่างน้ำร้อนราว 18 นาที อุณหภูมิของน้ำเฉลี่ยราว 41 องศาเซลเซียส บางคนชอบร้อนมากๆจนเนื้อตัวแดงกล่ำควันโชยติดตัวหลังขึ้นมาจากอ่างแล้วก็มี หลายคนคงสงสัยว่าจะแช่อะไรกันได้นานนมขนาดนั้น คือว่าการอาบน้ำถือเป็นศิลโปะอย่างหนึ่งสำหรับคนญี่ปุ่นก็ว่าได้ นอกจากผ้าสำหรับขัดเนื้อขัดตัวสารพัดรูปแบบแล้ว ตามโรงอาบน้ำใหญ่ๆจะมีการนำเอาลูกมะกรูด ส้ม แอปเปิ้ล และดอกไม้ใบหญ้าที่สร้างกลิ่นหอมชวนให้ผ่อนคลายได้มาลอยตุ๊บป๋องๆในอ่างสร้างบรรยากาศที่แตกต่างกันไปตามฤดูกาลได้อย่างดี แต่ละบ้านเองก็มักจะมีผงสำหรับโรยในน้ำที่ตนโปรดปราน (Nyuyokuzai) กักตุนอยู่ ที่บ้านฉันก็มีผงกลิ่นลาเวนเดอร์ กลิ่นกุหลาบ ผงน้ำเชื้อนำแร่จากบ่อน้ำร้อนที่มีชื่อทั่วประเทศ ฯลฯ ที่เพื่อนฝูงซื้อมาเผื่อหรือเก็บตกมาจากโรงแรมที่ไปพักมาบ้าง แต่ก็ใช้บ้างไม่ได้ใช้บ้างตามเรื่อง แค่น้ำร้อนธรรมดาก็สามารถลดความเหนื่อยเมื่อยล้าไปได้เพียงพอแล้วสำหรับเรา แต่สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือเครื่องดื่มหลังอาบน้ำเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นน้ำชา น้ำเย็น รวมทั้งไอสกรีมในหน้าร้อนด้วย วันไหนมีเวลาก็ต่อด้วยเก้าอี้นวดไฟฟ้าสัก 15 นาที ก็มีความสุขได้ตามอัตภาพแล้ว
ผงน้ำแร่จากบ่อที่มีชื่อเสียงในญี่ปุ่น

หลังๆมานี้ ตามบ้านจัดสรรหรือแมนชั่นหรูหราบางแห่งยังมีโทรทัศน์ไว้ให้ชมในห้องน้ำ บ้านที่ลูกยังเล็กก็หาซื้อของเล่นที่นำไปเล่นในอ่างอาบน้ำด้วยและพากันอาบพร้อมกันทั้งพ่อแม่ลูกก็มี ก็คงความที่ธรรมเนียมการอาบน้ำรวมนี้ทำกันมาแต่เล็กแต่น้อยนี่เอง ที่ทำให้คนญี่ปุ่นมักชินกับการอาบน้ำด้วยกันไม่ว่าจะกับคนรู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม ต่างกับคนไทยเราอย่างสิ้นเชิงที่แม้แต่ระหว่างแม่และลูกสาวยังใส่ผ้าถุงอาบหรือแยกกันอาบ






ไม่มีทั้งน้ำร้อน และข้าวเย็น
คุณน้ำคนนี้มาเปลี่ยนเครื่องทำน้ำร้อนเสร็จ กวาดหน้าบ้านให้ด้วย
สองวันหลังจากเครื่องทำน้ำร้อนเสีย บริษัทที่รับดูแลห้องพักก็ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจตราเครื่องและก็นำเครื่องใหม่มาเปลี่ยนให้ ในที่สุดเราก็ได้อาบน้ำกันสบายๆที่บ้านอีกในรอบ 3 วัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเหมือนในละครโทรทัศน์ที่แม่บ้านจะเตรียมน้ำร้อนและข้าวเย็นไว้คอยหลอกน่ะ เพราะฉันเองก็กลับช้ากว่าสามีและลูกบ้าง หรือวันไหนที่อยู่บ้านก็ยิ่งพลอยขี้เกียจออกไปหาซื้อวัสดุมาทำอาหาร ตกเย็นก็นั่งเฝ้าโทรศัพท์รอสามีหรือลูกที่จะโทรกลับมา เปล่า ไม่ได้ถามเขานะว่าจะอาบน้ำก่อนหรือจะกินข้าวก่อน จะคอยสั่งให้เขาซื้อปิ่นโตกลับมาเผื่อฉันด้วยไง

30 กว่าปีในญี่ปุ่นถึงแม้จะทำให้ฉันชอบอาบน้ำร้อนเหมือนคนญี่ปุ่นได้ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนนิสัยไม่ชอบปรนนิบัติของหญิงไทยอย่างฉันได้เลย ว่าแล้วก็ไปอาบน้ำก่อนเข้านอนคืนนี้ดีกว่า